ผู้เขียน หัวข้อ: ดูแลสุขภาพ: ถุงน้ำดี อยู่ตรงไหน มีหน้าที่อะไรบ้าง ดูแลอย่างไรให้ห่างไกลโรค  (อ่าน 93 ครั้ง)

siritidaphon

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 43
    • ดูรายละเอียด
ถ้าพูดถึงระบบย่อยอาหารในร่างกาย ถุงน้ำดี แม้จะเป็นอวัยวะขนาดเล็กแต่ก็มีความสำคัญอย่างมาก ทว่าหลายคนมองข้ามและไม่รู้ความสำคัญและหน้าที่ของถุงน้ำดีภายในร่างกาย แล้วเราควรดูแลถุงน้ำดีอย่างไรเพื่อสุขภาพห่างไกลโรคนิ่วในถุงน้ำดี ตามมาดูกันเลย


ถุงน้ำดี คืออะไร อยู่ตรงไหน

ถุงน้ำดี ภาษาอังกฤษคือ Gallbladder เป็นอวัยวะขนาดเล็กในระบบย่อยอาหาร อยู่ตรงช่วงท้องส่วนบนฝั่งขวา หรือด้านล่างของตับ มีลักษณะเป็นรูปถุง ขนาดประมาณ 4 นิ้ว


ถุงน้ำดี มีหน้าที่อะไร

ถุงน้ำดีมีหน้าที่เก็บน้ำดีที่ตับผลิตขึ้นมา ซึ่งน้ำดีจะมีลักษณะใสและหนืด สีออกเหลืองหรือเขียว การที่น้ำดีมาสะสมอยู่ที่ถุงน้ำดีไว้ก่อน จะทำให้ความเข้มข้นของน้ำดีมีมากพอที่จะย่อยอาหารประเภทไขมัน และเมื่ออาหารถูกลำเลียงเข้ามาในลำไส้เล็ก ถุงน้ำดีจะปล่อยน้ำดีออกมาย่อยอาหารที่เป็นไขมันให้แตกตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ และนำของเสียที่เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดที่เรียกว่า บิลิรูบิน ไปกำจัดทิ้งและขับถ่ายออกมากับอุจจาระหรือปัสสาวะ

         
อย่างไรก็ตาม ในคนที่ป่วยเป็นโรคนิ่วถุงน้ำดี แม้ว่าจะต้องตัดถุงน้ำดีทิ้งไปก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่มีอวัยวะที่ช่วยกักเก็บน้ำดีเพื่อให้มีความเข้มข้นเท่านั้น น้ำดีจึงลงไปที่ลำไส้ได้โดยตรง และย่อยอาหารประเภทไขมันได้ไม่ดีเท่าเดิม แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวได้เอง


โรคถุงน้ำดีที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง


1. นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones หรือ Cholelithiasis) เกิดจากการตกผลึกของสารเคมีจากถุงน้ำดี เช่น คอเลสเตอรอลในน้ำดี กรดน้ำดี เลซิทิน จนเกิดการจับตัวเป็นก้อนนิ่วขึ้นมา โดยมีตั้งแต่ขนาดเล็กประมาณเม็ดทรายจนถึงขนาดใหญ่เท่าลูกปิงปอง และเราอาจพบเพียงก้อนเดียวหรือหลายร้อยก้อนก็ได้

ทั้งนี้ โรคนิ่วในถุงน้ำดี แบ่งเป็น 3 ประเภทตามชนิดของนิ่ว คือ

-    นิ่วชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอลในน้ำดีที่มีมากผิดปกติ นิ่วชนิดนี้จะมีลักษณะแข็ง มีสีออกเหลืองหรือเขียว
-    นิ่วที่เกิดจากสารให้สี (Pigment stone) ที่ชื่อว่าสารบิลิรูบิน (Bilirubin) เป็นสารสีเหลืองที่เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ ลักษณะของก้อนนิ่วจะเป็นก้อนเล็ก ๆ แข็งน้อยกว่านิ่วชนิดแรก และก้อนนิ่วจะมีสีดำคล้ำ
-    นิ่วที่มีส่วนผสมของสารหลายชนิดรวมกัน ทั้งสารบิลิรูบินและคอเลสเตอรอลในน้ำดี กลายเป็นนิ่วชนิดผสม หรือที่เรียกว่า Mixed Gallstone มีลักษณะคล้ายโคลน เหนียว หนืด เกิดจากการติดเชื้อบริเวณใกล้ตับ ท่อน้ำดี หรือตับอ่อน

สำหรับอาการของนิ่วในถุงน้ำดีนั้น บางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลย สามารถใช้ชีวิตตามปกติ แต่ถ้ามีอาการควรต้องเอาก้อนนิ่วออก เช่น ปวดท้องรุนแรง จุกเสียด ปวดตรงกลางท้องด้านบนหรือปวดด้านขวาบนของท้อง อาจปวดรุนแรงจนร้าวไปที่หลัง สะบักขวา หรือระหว่างสะบักทั้งสองข้าง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการดีซ่าน ตัวเหลืองและตาเหลือง


2. ถุงน้ำดีอักเสบ

ถุงน้ำดีอักเสบ (Acute Cholecystitis) มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากนิ่วในถุงน้ำดีไปอุดตันทางออกของถุงน้ำดี ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ จนถุงน้ำดีอาจเป็นหนอง มีเนื้อตาย แตกหรือทะลุ ท่อน้ำดีติดเชื้อ นอกจากนี้อาการถุงน้ำดีอักเสบยังอาจเกิดได้จากถุงน้ำดีฉีกขาดหลังประสบอุบัติเหตุ มีพังผืดหรือเนื้องอกเกิดขึ้น

โดยอาการถุงน้ำดีอักเสบจะทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา โดยเฉพาะช่วงจังหวะการหายใจเข้า หากอาการหนักจะมีภาวะดีซ่าน ตัวและตาเหลือง ปัสสาวะเข้ม อุจจาระซีด และถ้าหากปล่อยไว้จนถุงน้ำดีแตกทะลุจะมีอาการหนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบิดเป็นพัก และปวดร้าวตั้งแต่หัวไหล่ขวาไปด้านหลัง เจ็บบริเวณท้อง



ดูแลสุขภาพ: ถุงน้ำดี อยู่ตรงไหน มีหน้าที่อะไรบ้าง ดูแลอย่างไรให้ห่างไกลโรค อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.healthyhitech.net/